“ทีมแมวไฟ” จิตอาสาแม่โจ้ ร่วมทีมจิตอาสาภัยพิบัติภาคเหนือ สนับสนุนภารกิจบรรเทาสาธารณภัย
วันที่ 27/03/2563    783 ครั้ง    ประเภท ข่าวกิจกรรม    ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

สถานการณ์ไฟป่าในภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ยังคงวิกฤติต่อเนื่องมาหลายวันสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบทั้งพื้นที่ป่า-สัตว์-ดิน ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย และยังเกิดฝุ่นควันพิษ เป็นมลภาวะทางอากาศขั้นรุนแรงส่งผลเสียต่อสุขภาพ

“ทีมแมวไฟ” จิตอาสาแม่โจ้ นำโดย อาจารย์จักรพงษ์ ไชยวงศ์ อาจารย์สาขาวิชาปฐพีศาสตร์ คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นจิตอาสาภัยพิบัติภาคเหนือ ที่คอยสนับสนุนภารกิจต่างๆ ให้กับหน่วยงานที่เข้าไปบรรเทาสาธารณภัย ได้มีการวางแผนการทำงานมากว่า 2 เดือน และได้เข้าพื้นที่ร่วมปฏิบัติการเมื่อกลางเดือนมีนาคม 2563

อาจารย์จักรพงษ์ ไชยวงศ์ กล่าวว่า “ ผมและทีมงานนักศึกษาจิตอาสาแม่โจ้ ได้ร่วมทำงานหลายส่วน อย่างแรกคือ การเป็นจิตอาสาภัยพิบัติภาคเหนือ (ศูนย์ฝุ่นควัน จ.เชียงใหม่) โดยในกลุ่มก็จะมี กลุ่มมอเตอร์ไซค์ ร่มบิน รถ ATV โดรน ฯลฯ ที่ค่อยช่วยสนับสนุน ภารกิจต่างๆ ให้กับหน่วยงานที่เข้าไปบรรเทาภัยพิบัติ เช่นไฟป่า ดับเพลิง ซึ่งในกรณีปัจจุบัน ปัญหาไฟป่าที่ทำให้เกิดหมอกควัน ซึ่ง โดรน หรืออากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก สามารถ บินเข้าไป ระบุตำแหน่งชี้เป้า และรายรายงานเข้าศูนย์บัญชาการฯ ของทางจังหวัด เพื่อติดต่อประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยไฟป่าของกรมอุทยานฯ หน่วยดับเพลิงของเทศบาล หมู่บ้าน ฯลฯ ในพื้นที่เข้าไปปฏิบัติงาน ดับ หรือควบคุมไฟ หรือได้รับการร้องขอเข้ามายังกลุ่ม line โดยทางกลุ่มก็จะมีตัวแทนหลายคนที่ประสานงานกับทางจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งผมก็เป็น 1 ในนั้น ซึ่งโดรน ผมก็นำใช้ในงานวิจัยและการเรียนการสอนอยู่แล้ว

ส่วนที่สองคือ ได้ปฏิบัติภารกิจร่วมกับกองทัพบก กองทัพภาคที่ 3 (ค่ายกาวิละ) ในการสำรวจพื้นที่แล้ง และจุดที่เกิดหมอกและไฟไหม้ ของ จ.เชียงใหม่ โดยเครื่องบิน 4 ที่นั่ง เครื่องบินฝึกแบบ 41 หรือ บ.ฝ.41 เป็นเครื่องบินฝึก 4 ที่นั่ง มีระยะทำการบิน 700 กิโลเมตร ความสูง 16,500 ฟุต บินได้นานถึง 4 ชั่วโมงเป็นเครื่องบินเล็กที่สามารถ เข้าถึงพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว (ดูลิงค์ https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1286980) ของกองทัพบก ภายใต้การควบคุมดูแลของ ท่าน พลตรีจิรเดช กลมเพ็ชร รองแม่ทพัภาค 3 เพื่อถ่ายภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายโดยกล้องหลายช่วงคลื่น (RGN Red+Green+Near Infrared) กล้องนี้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ภาพเพื่อหาค่าดัชพืชพรรณ (The normalized difference vegetation index : NDVI) เพื่อประเมินความอุดมสมบูรณ์ของพืช ในกรณีนี้ใช้ประเมินป่า พื้นที่เกษตรเลียบแม่น้ำปิงซึ่งเกี่ยวข้องโดยกับความแห้งแล้ง เพื่อนำเป็นฐานข้อมูลในการบริหารจัดน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ ซึ่งทางเรามีกล้องดังกล่าว ที่ใช้การวิจัยและการเรียนการสอน

นอกจากนั้น ยังได้ปฏิบัติงานร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนากรมอุทยานแห่งชาติ จังหวัดเชียงใหม่ กรมอุทยานแห่งชาติ ภายใต้การติดต่อประสานงานและควบดูแลหัวหน้าศูนย์ศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติทางบกจังหวัดเชียงใหม่ ในการสำรวจและติดตามผลกระทบในการเกิดไฟป่า บริเวณอุทยานแห่งชาติโดยสุเทพ กับสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเรื่องดิน และสูญเสียคาร์บอน โดยการศึกษานี้ได้ ขอความร่วมกับบุคลากรภายใน คือ อ.ดร.วงค์พันธ์ พรหมวงศ์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านแมลง มาร่วมศึกษาถึงผลกระทบต่อแมลง และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก โดยเฉพาะแมลงหน้าดิน ร่วมกับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแม่โจ้เข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาครั้งนี้ด้วย”

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ส่งเสริมให้นักศึกษาได้นำความรู้ในรายวิชาเรียนมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์จริง นอกจากนักศึกษาจะได้ความรู้จากรายวิชาที่เรียนแล้วยังเป็นสร้างจิตสำนึกในการห่วงแหนและตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งยังสร้างความภาคภูมิใจที่ได้เป็นจิตอาสามีส่วนร่วมในการดูแลสังคม”