การจัดการองค์ความรู้ในสวนสมุนไพร โดยประยุกต์ใช้คิวอาร์โค้ด
วันที่เขียน 15/8/2562 10:40:02     แก้ไขล่าสุดเมื่อ 25/4/2567 21:05:01
เปิดอ่าน: 4487 ครั้ง

โครงการสวนสมุนไพรมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ครบรอบพระชนมายุ 80 พรรษา ซึ่งปัจจุบันรองรับการเรียนการสอนด้านสมุนไพรของหลักสูตรการแพทย์แผนไทยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยมีแนวคิดการจัดสวนสมุนไพรตามพิกัดยาไทย ซึ่งมีพืชสมุนไพรต่างๆ ที่จัดเป็นกลุ่ม ตามตำรับยาแผนโบราณ ที่มีการอ้างอิงในการเรียนแพทย์แผนไทย สภาเภสัชกรรมไทย มีส่วนของกลุ่มสมุนไพรสาธารณสุขมูลฐานหรือสมุนไพรประจำบ้าน ที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ใช้จำนวน 61 พืช สมุนไพรล้านนาและสมุนไพรอื่นๆ ภายในพื้นที่สวนจัดวางตำแหน่งตามเส้นทางเดินศึกษาภายในสวน ปัจจุบันเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างมาก และการให้บริการเกี่ยวกับบาร์โค้ด 2 มิติ (2 Dimension Barcode) ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดเก็บข้อมูล และสามารถสืบค้นข้อมูลเพื่อมาแสดงผลบนอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ ทางคณะผู้วิจัยได้เล็งเห็นความสำคัญได้นำเอาเทคโนโลยีบาร์โค้ด 2 มิติมาประยุกต์เชื่อมโยงเข้ากับฐานสมุนไพรในสวนพฤกษศาสตร์กล้วยไม้ร้อยปีสมเด็จย่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อให้ผู้เข้าเยี่ยมชมสามารถสืบค้นข้อมูล ต่าง ๆ ของพันธุ์ไม้ สมุนไพรในสวนสมุนไพรเฉลิมพระเกียรติ จากอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่

การจัดการองค์ความรู้ในสวนสมุนไพร โดยประยุกต์ใช้คิวอาร์โค้ด

Applying the use of QR Code for Herbal Garden Knowledge Management.

 

สมชาย อารยพิทยา1* สุภักตร์ ปัญญา2 และอนุกิจ เสาร์แก้ว3

Somchai Arayapitaya1*  Supak Panya2 and  Anukit Saokeaw 3

1*ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยแม่โจ้  เชียงใหม่  ประเทศไทย 50290

2คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้  เชียงใหม่ ประเทศไทย 50290

3คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง  ลำปาง  ประเทศไทย 50290

1* Information Technology Center, Maejo University, Chiangmai  Thailand 50290

2 Faculty of Agricultural Production, Maejo University, Chiangmai Thailand 50290

3 Faculty Science, Lampang Rajabhat University, Chiangmai Thailand 50290

Corresponding author: somchai@mju.ac.th

 

บทนำ

โครงการสวนสมุนไพรเฉลิมพระเกียรติ ได้มีการริเริ่มและประสานงานโครงการฯ เมื่อปี พ.ศ. 2550  เป็นต้นมา  โดยมีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการเพื่อสร้างสวนสมุนไพร  ในการรองรับการเรียนการสอนด้านสมุนไพรของหลักสูตรการแพทย์แผนไทยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ (ปัจจุบัน เปลี่ยนเป็นหลักสูตรสาขาวิทยาการสมุนไพร ซึ่งการจัดทำหลักสูตรอยู่ระหว่างการปรับข้อมูลตามเกณฑ์ที่มาตรฐานคุณภาพ (TQF) คาดว่าจะรับนักศึกษาได้ในปีการศึกษา 2554)   การจัดสวนสมุนไพรฯ ดำเนินการในพื้นที่ สวนพฤกษศาสตร์กล้วยไม้ร้อยปีสมเด็จย่า  มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 8 ไร่ 

โดยมีแนวคิดการจัดสวนสมุนไพรตามพิกัดยาไทย  ซึ่งมีพืชสมุนไพรต่างๆ ที่จัดเป็นกลุ่ม ตามตำรับยาแผนโบราณ ที่มีการอ้างอิงในการเรียนแพทย์แผนไทย สภาเภสัชกรรมไทย  แต่ดั้งเดิมซึ่งในสวนสมุนไพรที่อื่นไม่ได้ทำ ถือเป็นจุดเด่นของสวนสมุนไพรฯที่จัดทำ  นอกจากนี้ยังมีส่วนของกลุ่มสมุนไพรสาธารณสุขมูลฐานหรือสมุนไพรประจำบ้าน ที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ใช้จำนวน 61 พืช  สมุนไพรล้านนาและสมุนไพรอื่น ๆ  ภายในพื้นที่สวนจัดวางตำแหน่งตามเส้นทางเดินศึกษาภายในสวน

ขณะเดียวกันผู้เข้าชมสวน สามารถที่จะศึกษาพันธุ์กล้วยไม้หายาก กล้วยไม้ใหญ่-เล็กที่สุดในโลก ภายในโดมศูนย์กลางของสวนและกล้วยไม้อื่นๆ ตามเส้นทางเดินได้ควบคู่กันไป  ในการดำเนินการจัดสวนสมุนไพรซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ ได้กำหนดการดำเนินการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน    โดยมีการดำเนินการในส่วนที่หนึ่งก่อนมีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ทำเส้นทางเดินครบรอบ จัดปลูกต้นพืชสมุนไพรในพื้นที่ จัดทำซุ้มฤาษี และพระพุทธไภษัชยคุรุไวฑูรย์ประภา และดูแลรักษา

ในปัจจุบันเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างมาก เริ่มด้วย โทรศัพท์เคลื่อนที่หน้าจอขาวดำก็พัฒนาเป็นหน้าจอสี มีกล้องถ่ายรูปในตัว สามารถฟังเพลงและวิทยุได้ เชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ได้  หรือแม้กระทั่งเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย ประกอบกับราคาเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่และค่าบริการที่ไม่แพงเกินไปนัก ผู้ใช้ทั่วไปสามารถหาซื้อไว้ใช้งานได้  ดังนั้นบริการที่มีความแปลกใหม่จึงถูกพัฒนาออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองกับความสามารถของโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เพิ่มขึ้น และการเติบโตของจำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยที่นับวันมีจำนวนมากขึ้นเป็นทวีคูณ  หนึ่งในบริการรูปแบบใหม่ที่ถูกนำเข้ามาใช้งานในประเทศไทย “การให้บริการเกี่ยวกับบาร์โค้ด 2 มิติ (2 Dimension Barcode)” ซึ่งสามารถนำมาทำงานร่วมกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีกล้องถ่ายรูป และรองรับเทคโนโลยีนี้  จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งที่จะนำเอาเทคโนโลยีบาร์โค้ด 2 มิติ (2 Dimension Barcode) มาประยุกต์ใช้ในการจัดเก็บข้อมูล และสามารถสืบค้นข้อมูลเพื่อมาแสดงผลบนอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้

ทางคณะผู้วิจัยได้เล็งเห็นความสามารถของเทคโนโลยีบาร์โค้ด 2 มิติและความสำคัญของโครงการสวนสมุนไพรมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ครบรอบพระชนมายุ 80 พรรษา    จึงมีความคิดที่จะนำเอาเทคโนโลยีบาร์โค้ด 2 มิติมาประยุกต์เชื่อมโยงเข้ากับฐานสมุนไพรในสวนพฤกษศาสตร์กล้วยไม้ร้อยปีสมเด็จย่า  มหาวิทยาลัยแม่โจ้  เพื่อให้ผู้เข้าเยี่ยมชมสามารถสืบค้นข้อมูล ต่าง ๆ ของพันธุ์ไม้ สมุนไพรในสวนสมุนไพรเฉลิมพระเกียรติจากอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่    อันเป็นแนวทางหนึ่งที่จะส่งเสริมให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้เรียนเรื่องราวต่าง ๆ ของพันธุ์ไม้ผ่านเทคโนโลยีใหม่ ๆ   อันก่อให้เกิดประโยชน์ในการศึกษา การค้นคว้า การวิจัย การพัฒนาเชิงนวัตกรรมทางการเกษตรได้ต่อไป

 

วิธีดำเนินการวิจัย

รูปแบบการวิจัย

เป็นการวิจัยประยุกต์ทางวิทยาศาสตร์ โดยพัฒนาระบบฐานข้อมูลเชื่อมโยงเข้ากับการเข้ารหัสภาพบาร์โค้ด 2 มิติ QR-Code   ทำการทดสอบการใช้งานด้วยการทดสอบการใช้งานกับกลุ่มประชากรที่เกี่ยวข้อง เช่น นักศึกษาที่เรียนเกี่ยวกับสมุนไพร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จำนวน 50 คน (โดยใช้ตารางกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างสำเร็จรูปของเครจซีและมอร์แกน (Krejcie and Morgan) ในการประเมินจากจำนวนประชากรที่เหมาะสมจำนวน 210 คน) (Google Sites, ม.ป.ป.) แล้วประเมินผลโปรแกรมระบบสารสนเทศข้อมูลสมุนไพรที่พัฒนาขึ้นที่เชื่อมโยงระหว่างฐานข้อมูลกับบาร์โค้ด 2 มิติ QR-Code  มีรูปแบบการนำเสนอข้อมูลบนอุปกรณ์สมาร์ทโฟน ระบบสารสนเทศที่พัฒนาขึ้นมานี้ ใช้กระบวนการที่เรียกว่า วัฏจักรพัฒนาระบบงาน (System Development Life Cycle หรือ SDLC)  ส่วนเนื้อหาฐานข้อมูลใช้วิธีการที่ประยุกต์จากการควบคุมทางบรรณานุกรม (Bibliographic control) ทางบรรณารักษศาสตร์

ขั้นตอนและวิธีการในการวิจัย

1. ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์

            ดำเนินการวิเคราะห์และออกแบบระบบงานตามขั้นตอนทางวิชาการของการวิเคราะห์ ออกแบบและการพัฒนาระบบงานคอมพิวเตอร์  (SDLC) (กิตติ ภักดีวัฒนะกุล และคณะ, 2551) ดังนี้

(1.1) การสำรวจข้อมูลเบื้องต้น โดยการหาปัญหาโอกาส  เป้าหมาย  และสำรวจความต้องการของกลุ่มเป้าหมายคือนักวิชาการด้านสมุนไพร โดยสามารถรวบรวม  สืบค้นจากชื่อสมุนไพร ชื่อท้องถิ่น  ชื่อสามัญ ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อวงศ์ สรรพคุณทางยา รูปภาพสมุนไพร และให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้

(1.2) การวิเคราะห์ระบบ  ทำการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากขั้นตอนข้างต้นมาเขียนเป็นฟังก์ชันไฮราคี (Function hierarchy) ของระบบงานปัจจุบัน

(1.3) การออกแบบระบบ  กำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ของระบบจนครบสมบูรณ์ เช่น  การออกแบบการพิมพ์รายงาน  การกำหนดลักษณะของแบบฟอร์มสำหรับกรอกข้อมูล  การออกแบบหน้าจอส่วนแสดงผลหรือรายการเลือก  การออกแบบส่วนเข้าข้อมูล  การออกแบบทางด้านแฟ้มข้อมูลและฐานข้อมูล  การออกแบบทางด้านซอฟท์แวร์

(1.4) การพัฒนาซอฟต์แวร์ และจัดทำเอกสาร ทำการเลือกภาษาคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสม เช่น โปรแกรม Microsoft Visual Studio 2010 และระบบบริหารจัดการฐานข้อมูล Microsoft SQL Server 2008 มาใช้ในการเขียนโปรแกรมให้ครบสมบูรณ์   ซึ่งในขั้นตอนนี้จะต้องทำเอกสารควบคู่ไปด้วย

(1.5) การทดสอบและบำรุงรักษาระบบ  (1) การทดสอบข้อมูล  โดยนำข้อมูลชุดทดสอบเข้าระบบ  แล้วดูผลลัพธ์  โดยเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลอื่น 

                                               (2) การทดสอบการใช้งานโดยผู้ใช้

(1.6) การดำเนินงานและประเมินผล   โดยใช้แบบสอบถามแก่กลุ่มเป้าหมาย เช่น นักศึกษาที่เรียนเกี่ยวกับสมุนไพร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จำนวน 50 คน

 

2.การศึกษาคุณสมบัติ วิธีการสร้าง วิธีการใช้คิวอาร์โค้ด (QR Code)

(2.1)รวบรวมข้อมูลสมุนไพรจากระบบฐานข้อมูลสมุนไพร ตัวอย่างเช่น link ข้อมูลสมุนไพรเถาวัลย์เปรียง https://mmp.mju.ac.th/Search_Detail_Herb_MJU_QRCode.aspx?Herb_ID=0229 (Figure 1)

(2.2) สร้าง QR Code โดยใช้ซอฟต์แวร์ในการสร้าง QR Code เช่น โปรแกรม XRen QR Code Tool หรือนำ Link ข้อมูลที่ต้องการสร้าง QR Code ไปสร้างในเว็บไซต์ที่สามารถ Generate เป็น QR Code ได้ ซึ่งในงานวิจัยนี้ ได้มีการนำ Link ข้อมูลสมุนไพรไปสร้างเป็น QR Code ในเว็บไซต์ https://qrcode.kaywa.com (Figure 2)

(2.3) นำไฟล์รูปภาพ QR Code ที่ได้ไปจัดทำป้ายด้วยโปรแกรม Photoshop (Figure 3)

ผลการวิจัย

โครงการวิจัยครั้งนี้ ได้รวบรวมข้อมูล จัดเก็บข้อมูลและภาพถ่ายพืชสมุนไพรที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จำนวน 250 พืช (กลุ่มสมุนไพรสาธารณสุขมูลฐานหรือสมุนไพรประจำบ้าน ที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ใช้จำนวน 61 พืช สมุนไพรล้านนาและสมุนไพรอื่น ๆ  ภายในพื้นที่สวนสมุนไพรเฉลิมพระเกียรติจัดวางตำแหน่งตามเส้นทางเดินศึกษาภายในสวนฯ) จากนั้นทำการพัฒนาระบบฐานข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยแม่โจ้    ในครั้งนี้  แบ่งผลการศึกษาออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

1.ผลการพัฒนาระบบ

             หลังจากได้พัฒนาระบบตามขั้นตอนที่ได้ออกแบบไว้   ผลของการพัฒนาระบบแสดงได้ ดังต่อไปนี้

                      สามารถที่จะค้นหาข้อมูลสมุนไพรและแสดงรายละเอียดของข้อมูลสมุนไพรที่เป็นภาษาไทยและอังกฤษ โดยจะแสดงข้อมูลตามชื่อสมุนไพร ชื่อท้องถิ่น ชื่อสามัญ ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อวงศ์ และ สรรพคุณทางยา (Figure 4) ซึ่งถ้าต้องการดูรายละเอียดของข้อมูลสมุไพรเพิ่มเติม  ก็สามารถคลิกที่ปุ่ม more ก็จะแสดงรายละเอียดของสมุนไพร เช่น ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ส่วนที่ใช้เป็นยา สารสำคัญ พันธุ์ที่ปลูก การขยายพันธุ์ และอายุเก็บเกี่ยว เป็นต้น (Figure 4 and Figure 5)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ความคิดเห็นทั้งหมด (0)
ไม่มีข้อมูลตามเงื่อนไขที่ท่านกำหนด
รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมวดหมู่ : กลุ่มงานเทคโนโลยีสารสนเทศ
ความรู้ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง » Assignment in Microsoft Teams
การมอบหมายงาน (Assignment ) สำหรับนักศึกษาในห้องเรียน ระบบ Microsoft Teams สร้างความสะดวกในการมอบหมายงานให้กับนักศึกษา การส่งงาน และสามารถให้คะแนนนักศึกษาแต่ละคนในห้องเรียน สำหรับผู้ที่อยู่ในสถาบัน...
Assignment  Microsoft Teams  การมอบหมายงาน  การให้คะแนน     กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร   กลุ่มงานเทคโนโลยีสารสนเทศ
ผู้เขียน สุภาพรรณ อนุตรกุล  วันที่เขียน 26/3/2567 18:01:20  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 25/4/2567 18:25:25   เปิดอ่าน 124  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
ความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมประชุม/อบรม/สัมมนา » Google Sites สร้างเว็บไซต์ได้อย่างง่ายดาย
Google Sites คือโปรแกรมหนึ่งของ บริษััท Google ที่เปิดให้ สมาชิกของ Google สามารถ สร้างเว็บไซต์ของตนเองได้ฟรี โดยการสร้างเว็บไซต์ ด้วย Google Sites นั้น ทำได้ง่าย เหมือนกับการแก้ไข เอกสารธรรมดา ๆ ช...
Google Sites  เว็บไซต์     กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร   กลุ่มงานเทคโนโลยีสารสนเทศ
ผู้เขียน สุภาพรรณ อนุตรกุล  วันที่เขียน 11/3/2567 17:19:12  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 25/4/2567 16:48:48   เปิดอ่าน 225  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
การพัฒนาระบบสารสนเทศ » การกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้รายวิชา CLOs ผ่าน มคอ.3
หัวข้อนี้เน้น การออกแบบหลักสูตรให้ตอบสนองต่อผลการเรียนรู้ที่คาดหวังของหลักสูตร สะท้อนถึงความต้องการ ของผู้ที่เกี่ยวข้องครบทุกภาคส่วน และผลการเรียนรู้นั้นต้องครอบคลุมทั้งความรู้ ทักษะเฉพาะทางและทักษ...
CLO  ELO  PLO     กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร   กลุ่มงานเทคโนโลยีสารสนเทศ
ผู้เขียน สมนึก สินธุปวน  วันที่เขียน 18/11/2566 23:45:59  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 25/4/2567 16:48:50   เปิดอ่าน 348  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
การพัฒนาระบบสารสนเทศ » แอปพลิเคชันสำหรับช่วยในการจัดเรียนการสอน
การเรียนผ่านเครื่องมือช่วยสอนโดยใช้แอปพลิเคชันมีบทบาทในการส่งเสริมและช่วยเหลืออาจารย์และนักศึกษาเป็นอย่างมาก บทความนี้ได้รวบรวม 8 เครื่องมือช่วยสอนสำหรับอาจารย์ในการช่วยจัดการเรียนการสอนให้เกิดความ...
Canva  Kahoot  Nearpod  Plicker  Quizizz  Storyboard  Visme  Voxer     กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร   กลุ่มงานเทคโนโลยีสารสนเทศ
ผู้เขียน สมนึก สินธุปวน  วันที่เขียน 18/11/2566 23:01:13  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 25/4/2567 16:48:47   เปิดอ่าน 247  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง